วัดดอยงำเมือง(ดอยงามเมือง)

    สร้างในสมัยใดไม่ปรากฎหลักฐาน กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.2478 (ราชกิจจานุเบกษา,8 มีนาคม 2478) ซึ่งได้ระบุความสำคัญว่าเป็นปูชนียสถาน พระยาไชยสงครามราชโอรสพระญามังราย ได้นำพระอัฐิหลังถวายพระเพลิงพระศพพระราชบิดาแล้วได้เสด็จกลับมาครองเมืองเชียงรายมาบรรจุภายในสถูปภายในวัด

   ภายหลังได้มีนักวิชาการท้องถิ่น คุณอภิชิต ศิริชัย ได้สืบค้นเอกสารต้นฉบับจากเอกสารท้องถิ่น และเอกสารราชการ เขียนหนังสือเรื่องรู้เรื่องเมืองเชียงราย ในปี พ.ศ.2559 ซึ่งได้เขียนค้นพบทางวิชาการในหนังสือเล่มดังกล่าวซึ่งมีข้อค้นพบใหม่ว่า วัดงำเมือง เดิมชื่อวัดงามเมือง ซึ่งปรากฏหลักฐานการเรียกชื่อวัดจากเอกสารจดหมายเหตุของพระครูปัญญาลังการ อดีตเจ้าอาวาสวัดศรุญเรือง ซึ่งพร้องกับราชกิจจานุเบกษา ประกาศเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2471 เรื่องบำรุงวัดและโรงเรียนในจังหวัดเชียงราย ซึ่งพระวิมาดาเธอ กรมพระสุธาสินีนาฎ และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทอง เขตขัติยนารี ได้ประทานเงินบำรุงวัดงามเมือง 40 บาท ซึ่งจากหลักฐานดังกล่าวแสดงให้ถึงชื่อวัดว่า เป็นชื่อที่นิยมเรียกของคนในท้องถิ่นในอดีต

ราชกิจจานุเบกษา เรื่องบำรุงวัดและโรงเรียนในจังหวัดเชียงราย

     ส่วนหลักฐานที่เขียนถึงการที่พระญาไชยสงคราม (ขุนคราม) ราชโอรส นำพระอัฐิพระญามังรายมาบรรจุภายในสถูปบนดอยยังไม่มีหลักฐานปรากฎที่แน่ชัด แม้ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี ได้กล่าวถึง การสรรคตของพระญามังราย ว่า

“เมื่อนั้น เจ้าพระญาไชยสงครามอยู่อุปัฏฐากพ่อตนหายพยาธิแล้ว ก็คืนเมืองเชียงราย หั้นแล ส่วนเจ้าพระญามังรายอยู่เสวยราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่ ตราบได้อายุ 80 ปลี ค๊จุจจิไพสู่ปรโลกพายหน้าด้วยวิปากผละตายฟ้าผ่าที่กลาดเชียงใหม่กลางเวียง สกราชได้ 678 ตัวปลีเมืองไส้ หั้นแล เสนาอามาจจ์ทั้งหลายค็เอาคราพระญามังรายใส่ในโกฎคำไว้ แล้วค็ใช้หื่อไพบอกไหว้สาเจ้าพระญาไชยสงครามเมื่อเชียงรายรู้……………เจ้าพระญาไชยสงครามแต่งบ้านปองเมืองอยู่ได้ 4เดือน แล้วค็กพทำอภิเสกลูกคนผู้อ้ายชื่อว่าท้าวแสนภู อายุได้ 41 ปลีหื้อเป็นพระญาเสวิยราชสัมปัตติในเมืองเชียงใหม่แทนพระญามังรายตนปู่ในปลีเบิกสะง้า สกราชได้ 680 ………….”

     ซึ่งไม่มีหลักฐานปรากฏการนำพระอัฐิพระญามังรายมาบรรจุภายในสถูปบนดอย แต่ปัจจุบันทางเทศบาลนครเชียงรายได้มีการจัดงานระลึกถึงวันสิ้นพระชนของพระญามังรายบริเวณสถูปที่เชื่อว่าเป็นที่บรรจุพระอัฐิพระญามังรายเป็นประจำทุกปีซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมที่ทำให้ชาวเชียงรายระลึกถึงพระมหากรุฯธิคุณของท่าน ส่วนข้อถกเทียงทางวิชาการคงต้องใช้เวลาในการสร้างความรับรู้ที่ถูกต้องต่อไปในอนาคต