ประวัติย่านเมืองเก่าเชียงราย

      ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของชุมชนเมืองเก่าเชียงราย ย่านชุมชนดอยทอง ชุมชนราชเดชดำรงและชุมชนวัดพระแก้ว  เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงราย โดยกลุ่มดอยขนาดเล็กดังกล่าว ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่อเมืองเชียงราย มาตั้งแต่ยุคสร้างเมืองเชียงราย ในยุคของ      พญามังราย  มีพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างตามแต่ยุคสมัยขึ้นอยู่กับสภาพภูมิศาสตร์  ซึ่งจะขอกล่าวถึงความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลงของแต่ละพื้นที่เพื่อให้เข้าใจพื้นที่ ผู้คน และวัฒนธรรม อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในเรื่องแนวทางการเสนอ แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรทางวัฒนธรรม   และสามารถนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของท้องถิ่นได้ในอนาคต  ผู้ศึกษาแบ่งช่วงระยะเวลาประวัติศาสตร์และพัฒนาการของชุมชนเมืองเก่าเชียงราย เป็น ช่วงดังนี้

ช่วงที่ 1 การกำเนิดเมืองเชียงรายในยุคราชวงศ์มังราย กับความสำคัญของกลุ่มดอยขนาดเล็กกลางเมือง ( พ.ศ. 1805 – พ.ศ. 2100 / 295 ปี)

จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์พัฒนาการมายาวนาน ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 จากหลักฐานที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงแสน ได้กล่าวถึงการกำเนิดราชวงศ์ลาว หรือลวจังกราช  ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากกลุ่มคนที่เคยอาศัยบริเวณที่สูงในแถบพื้นที่เชิงดอยตุง ภายหลังเกิดการอพยพลงมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในบริเวณที่ราบริมฝั่งแม่น้ำโขงในอำเภอเชียงแสน และมีพัฒนาการกลายมาเป็นนครขนาดใหญ่ เรียกกันต่อมาว่า เมืองเงินยาง  การสร้างความมั่นคงของเมือง  อาศัยความความสัมพันธ์ในลักษณะเมืองเครือญาติกับเมืองโดยรอบ และเมืองที่ห่างออกไปตามลำแม่น้ำโขงตอนบน ส่งผลให้ในราวพุทธศตวรรษที่18 เป็นต้นมา เมืองเงินยางมีฐานะเป็นเมืองหนึ่งที่มีความสำคัญทางด้านการเมือง ในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน  ต่อมาในปี พ.ศ. 1802  พญามังราย ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติที่เมืองหิรัญนครเงินยาง เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 25 การสร้างอาณาจักรในช่วงแรกของพระองค์คือ ทรงรวบรวมเมืองเล็กเมืองน้อยที่อยู่รอบเมืองเงินยาง  ภายหลังใน พ.ศ. 1805 ทรงเสด็จลงมาสร้างเมืองใหม่ ทางทิศใต้ห่างจากเมืองเงินยาง ราว 20 กิโลเมตรเมตร ทรงเลือกเวียงไชยนารายณ์ เพื่อสร้างเป็นเวียงใหม่ ดังปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี ว่า

“ เจ้าบังเกิดได้ลูกชายผู้ 1 ในปลีเต่าเส็ด จุฬสกราช ได้ 624 อยู่บ่นานเท่าใด ช้างมังคละเจ้ามังราย ปล่อยไพหัวดอยหนตะวันออก เจ้าไพตามรอยช้าง หันประเทสที่1 ข้างริมน้ำแม่กก มีม่อนดอยสูง สะเกิง งามนัก ท้าวจิ่งคระนิงใจว่า เมื่อปู่คู เจ้าลาวจงส้าง บ้านหื้อปู่คูเจ้าลาวเกล้าอยู่ ได้ยินว่าเพิกตีนดอยผาเลาวันนั้น เมื่อปูเจ้าลาว

เครียงส้างเมืองเงินยาง ก็จิ่มดอยทั้งสาม คือ ดอยทุง ดอยท่า ดอยย่าเถ้า วันนั้นดีหลี เหตุดังนั้น ควรคูกะทำม่อนดอยหื้อเป็นสะดือเมือง คืดทำกลางเมือง ควรชะแล เจ้าพญามังรายจิ่งสร้างเวียงกวมดอยจอมทองหื้อทำกลางเวียง ส้างในปลีเต่าเส็ด สกราช 624 ตัว ปรากฎชื่อว่าเมืองเชียงรายหั้นแล……….”(ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่. 2538 :น.13)

จากตำนานจะเห็นได้ว่าปัจจัยที่พญามังรายทรงเลือกตั้งเมืองเชียงราย เนื่องจากมีภูมิประเทศที่เป็นชัยภูมิดี จึงให้สร้างพระนคร โดยกำหนดให้บริเวณดอยจอมทอง เป็นจุดศูนย์กลางของเมือง มีการสร้างประตู และกำแพงเมืองขึ้น ล้อมรอบ ทรงตั้งนามเมืองใหม่ว่า เมืองเชียงราย  นอกจากนั้นยังปราฏมุขปาฐะ เรื่องเจี้ยผีนาค ซึ่งสืบทอดมาในท้องถิ่นปรากฏหลักฐานผ่านพิธีการเลี้ยงผีประจำเมืองเชียงราย ซึ่งเลี้ยงครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2460 โดยถือผีนาคเป็นหนึ่งในอารักษ์ของเมืองเชียงราย ซึ่งสัมพันธ์กับนิทานนาคสร้างเมืองเชียงรายซึ่งมีเนื้อความเกี่ยวกับพญามังรายสร้างเมืองเชียงราย โดยมีพญานาคมาช่วยสร้าง และหาฤกษ์ในการขุดคูเมือง ทั้งสี่ด้านของเมือง โดยในเรื่องเจี้ยผีนาค ได้กล่าวว่าพญามังรายบรรทมโดยตื่นไม่ทันเวลาฤกษ์ในการขุดคูเมืองก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ส่งผลให้พญานาคขุดคูเมืองเพียงผู้เดียวโดยเสร็จเพียงด้านทิศเหนือของดอยจอมทองติดกับแม่น้ำกก ชาวเชียงรายเรียกถนนเส้นที่เกิดการพัฒนาเป็นถนนในปัจจุบันว่า “กองนาค” และ ตามหลักฐานที่ปรากฏจากเอกสารท้าวฮุ่ง หรือเจือง ในปี พ.ศ. 2486  กล่าวถึงอารักษ์ 9 องค์ ที่คุ้มครองเมืองเชียงราย ได้แก่ ขุนคงคำร้อย (เจ้าผีเม็งเป็นผีตั้งแต่เชียงแสน)  ขุนสร้อยคอคำ(เจ้าแห่งผีนาค) ขุนนิลดำสวด(เจ้าผีแมน)  ขุนหมวกขาวคอยคำ ขุนแสนดำสักสวาด ขุนพรหมราชห้าวหาญ(พญาพรหมณ์) ขุนมังรายหาญข่ามกล้า(พญามังราย) ขุนเจืองฟ้าธรรมราช (ขุนเจืองธรรมิกราช) ขุนมังครามอาจโอภา(พญาไชยสงคราม) พื้นที่ย่านดอยจอมทองมีความสำคัญในฐานะพื้นที่สำคัญและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเชียงรายมายาวนาน 

(ซ้าย) บริเวณข่วงหลวงพื้นที่ในการเลี้ยงผีนาคในอดีตบริเวณที่ราบแถวดอยจอมทอง (ขวา) กองนาค

พญามังราย เสด็จมาประทับอยู่ที่เมืองเชียงราย เพียง 3 ปี  ได้เสด็จจากเมืองเชียงรายไปประทับอยู่ที่เมืองฝาง (เวียงไชยปราการ) ซึ่งทราบข่าวจากพ่อค้าว่า เกิดการขยายตัวทางการค้าภาคพื้นตอนในของทวีปผ่านเส้นทางกองคาราวานเส้นทาง ลำพูน – เชียงใหม่ – อ่าวเมาะตะมะ(รัฐมอญ) ส่งผลให้เมืองหริภุญชัย ที่ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์เส้นทางการค้ามีบทบาทในฐานะจุดยุทธศาสตร์การค้าทางบก จากปัจจัยดั้งกล่าวส่งผลให้ พญามังรายเห็นถึงข้อได้เปรียบของเมืองหริภุญชัย ทรงหมายที่จะผนวกเมืองหริภุญชัยเป็นเมืองหนึ่งของอาณาจักร ต่อมาในปี พ.ศ. 1818 พญามังรายได้ให้ราชบุตรองค์ใหญ่ชื่อ   ขุนเครื่อง มาครองเมืองเชียงราย ต่อมาราชบุตรองค์ใหญ่สิ้นพระชนม์ พญามังรายจึงได้กลับมาครองราชย์สมบัติอยู่ที่เมืองเชียงรายอีกครั้ง

บริเวณ ดอยจอมทอง จุดศูนย์กลางของเมืองเชียงราย ในยุคต้นแห่งราชวงศ์มังราย

ภายหลังที่พญามังรายทรงยึดเมืองหริภุญชัยได้สำเร็จทรงประทับอยู่ที่เมืองหริภุญชัยเพียง 2 ปี หลังจากนั้นจึงทรงสร้างเวียงกุมกามขึ้นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำปิงทางด้านทิศเหนือของหริภุญชัย  ภายหลังเวียงกุมกาม       เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง ต่อมาในปี พ.ศ.1839  พญามังรายจึงทรงย้ายมาสร้างเมืองใหม่ เรียกกันต่อมาว่า เมืองเชียงใหม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรที่สำคัญในระยะเวลาต่อมา ส่วนเมืองเชียงรายนั้นมี ขุนครามราชบุตรเสด็จมาครองเมืองแทน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เมืองเชียงรายเริ่มลดบทบาทลง ต่อมาในปี พ.ศ. 1860  พญามังราย สวรรคต ที่เมืองเชียงใหม่  เมืองเชียงรายกลับมามีความสำคัญอีกครั้งในรัชสมัยพญาไชยสงคราม (ขุนคราม)  หลักฐานที่ปรากฏให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ดอยจอมทองในฐานะจุดศูนย์กลางของเมืองเชียงรายในยุคราชวงศ์มังรายปรากฏหลักฐานจากกลุ่มโบราณสถานที่มีจำนวนมากในเขตพื้นที่โดยรอบดอยจอมทอง ซึ่งปัจจุบันกลุ่มโบราณสถานดังกล่าวได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ มณฑลทหารบกที่ 37 ค่ายเม็งรายมหาราช ซึ่งพบหลักฐานทางโบราณคดีอย่างหนาแน่นบริเวณสถานหญ้าหน้าตึกกองร้อยของค่ายเม็งรายมหาราช เช่น กล้องยาสูบดินเผา(มูยา) เศษภาชนะดินเผา ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดพัฒนาการเป็นชุมชนมีปัจจัยจากที่ตั้งของพื้นที่ใกล้กับแหล่งน้ำสำคัญของเมืองคือแม่น้ำกก โดย คุณอภิชิต ศิริชัย นักวิชาการท้องถิ่น ได้สำรวจ และรวบรวมข้อมูลโบราณสถานที่พบในพื้นที่เขตค่ายเม็งรายมหาราช พบว่า เวียงเชียงรายในยุคราชวงศ์มังราย สันนิษฐานว่าว่าอยู่บริเวณโดยรอบเชิงดอยจอมทอง สัณฐานเวียงเป็นรูปวงกลม หรือวงรี ซึ่งเป็นรูปแบบเวียงโบราณที่พบมากในยุคแรกก่อนการรับรูปแบบการวางผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมในยุคหลัง ภายในพื้นที่โดยรอบพบโบราณสถาน ภายหลังการสำรวจโดยกรมศิลปากร พบโบราณสถานวัดร้าง และแนวกำแพงเมือง จำนวน 9 แห่ง ประกอบไปด้วย  วัดร้าง แนวกำแพงเมืองโบราณ  จากหลักฐานดังกล่าวจึงเป็นเครื่องหนึ่งในการยืนยันความสำคัญของพื้นที่ดอยจอมทองในฐานศูนย์กลางอำนาจเมืองเชียงรายในยุคราชวงศ์มังราย 

โบราณสถาน และพระพุทธรูปโบราณ ภายในพื้นที่มณฑลทหารบกที่37 ค่ายเม็งรายมหาราช

 ต่อมาใน พ.ศ. 1870 พญาไชยสงครามถึงแก่ทิวงคต พญาแสนภูได้ให้เจ้าคำฟูราชโอรสไปครองเมืองเชียงใหม่ แล้วพระองค์ได้กลับมาครองเมืองเชียงราย พญาแสนภูมีพระราชประสงค์จะสร้างพระนครอยู่ใหม่ที่มีชัยภูมิที่ดี จึงทรงเลือกพื้นที่บริเวณเมืองเก่าเวียงไชยบุรี ริมแม่น้ำโขง ทรงสถาปนาเมืองใหม่ชื่อว่า หิรัญนครชัยบุรีศรีชียงแสน ซึ่งมีความสำคัญในช่วงเวลาสั้นๆ ในสถานะเป็นจุดศูนย์กลางล้านนา (พ.ศ. 1868 – พ.ศ.1879

ช่วงที่ 2 การย้ายจุดศูนย์กลางเมืองเชียงรายในยุคราชวงศ์มังราย สู่ตัวเมืองเชียงรายในยุครัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2101 - พ.ศ. 2477 / 376 ปี)

จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2101 เมืองเชียงใหม่ ตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่าสลับกับการก็ตกอยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยา เมืองเชียงราย ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวง ของเมืองเชียงใหม่ ถูกพม่าเข้ามาปกครอง (พ.ศ.2101 –พ.ศ.2317/ 217 ปี)  โดยในช่วงกว่า 217 ปีที่พม่าเข้ามาปกครองเมือง เหตุการณ์ในช่วงปลายราชวงศ์ตองอู ในรัชสมัยพระเจ้าตลุนมิน (พ.ศ.2172 – พ.ศ.2191) นี้มีการย้ายราชธานีของพม่ามาอยู่ที่เมืองอังวะส่งผลให้การติดต่อกับเมืองเชียงแสนเป็นได้สะดวก ทำให้พม่าเลือกเมืองเชียงแสน เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในการปกครองล้านนาของพม่า ในส่วนเมืองเชียงราย เจ้าเมืองที่พม่าได้ส่งมาปกครองเมืองเชียงราย โดยชรินทร์ แจ่มจิตต์ ได้รวบรวมจากเอกสารต้นฉบับที่พบในท้องถิ่น ปรากฎรายชื่อขุนนางพม่าที่ปกครองเมืองเชียงรายในช่วงนั้น จำนวน 14 คน ได้แก่          
  1.พญาชิณวงศ์ (พ.ศ.2157) 
  2. มะคชเทมา (พ.ศ.2587)
  3.ฟ้าเชียงทอง (พ.ศ.2195) 
  4.ฟ้าเมืองไร (พ.ศ.2204)
  5.ฟ้าเทืองแถน (พ.ศ.2207)
  6. พญาดอนไชย (พ.ศ.2227)
  7. เจ้าหอซ้าย (พ.ศ.2237) 
  8.เจ้าหน่อเมือง (พ.ศ.2243)
  9.พญาเมืองน้อย (พ.ศ.2248)
  10.มังพละสะแพ็ก (พ.ศ.2253)
  11.เพียนะรักษ์ (พ.ศ.2284)
  12.ฟ้าวะ (พ.ศ.2290)
  13.ท้าวคำปิว (พ.ศ.2301)
  14.ท้าวลาด (พ.ศ.2302)
 พร้อมทั้งมีการย้ายศูนย์กลางอำนาจของเมืองเชียงรายบริเวณดอยจอมทองมาอยู่ยังบริเวณตัวเมืองปัจจุบัน ซึ่งปราฏหลักฐานจากตำนานพื้นเมืองเชียงราย ฉบับวัดสรีส้มสุก ตำบลแม่ข้าวต้ม จังหวัดเชียงราย ว่า

“……………. เมืองเชียงรายอันหย้ออันแควนก่อนแลตั้งฟังสุทโธธัมมราชามากินล้านนาได้แล้ว แต่พรญาขีธอรกินเมืองเชียงรายสร้างวัดจันทโลกไว้แล้ว กินเมืองนานได้7 ปี สกราช 1006 ตัว(พ.ศ.2187)…………..

ต่อมาในปี พ.ศ. 2317 เกิดการต่อต้านพม่าโดยกลุ่มผู้นำท้องถิ่นที่เมืองลำปาง โดยการนำของหนานเจ้าทิพย์ช้าง ร่วมกับท้าวมหายศ เมืองลำพูนภายหลังการต่อต้านพม่าสำเร็จแล้ว ชาวเมืองลำปางจึงยก หนานเจ้าทิพย์ช้างขึ้นเป็นพระญาสุลวลือไชยสงคราม เจ้าเมืองลำปาง ต้นราชวงศ์เชื้อเจ็ดตน ต่อมา พระญาจ่าบ้าน (บุญมา) และเจ้ากาวิละ ได้ร่วมมือกันขอกำลังสนับสนุนจากพระเจ้าตากสินเพื่อร่วมขับไล่พม่า จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ชาวบ้านในเมืองเชียงแสนค่อย ๆ พากันอพยพออกไปตั้งถิ่นฐานเพื่อหนีภัยสงครามการขับไล่พม่าออกจากเชียงแสน นำไปสู่การเทครัวชาวเชียงแสน อพยพลงมาตั้งถิ่นฐานบริเวณที่เมืองเขตติดต่อกับภาคเหนือ  ต่อมาในปี พ.ศ.2347 ในยุครัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า แห่งราชวงศ์จักรี ทรงโปรดเกล้าฯ ส่งให้กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช ยกกองทัพขึ้นมาขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนได้สำเร็จ ให้เผาเมืองเสียสิ้น กวาดต้อนเอาผู้คน อพยพไปอยู่เมืองเชียงใหม่ นครลำปาง นครน่าน เมืองเวียงจันทน์ และลงมายังกรุงเทพฯ บางส่วนอพยพมาอยู่ เมืองสระบุรี เมืองราชบุรี ส่งผลให้เมืองเชียงแสน และเมืองเชียงราย เป็นเมืองร้าง ภายหลังจากการขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงราย  จนกระทั่งในปี พ.ศ.2386 ในรัชพระเจ้ามโหตระประเทศ เจ้าหลวงองค์ที่ 5 แห่งเมืองเชียงใหม่ จึงทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฟื้นเมืองเชียงราย ในปี พ.ศ.2386 (พ.ศ.2386 – พ.ศ.2407 /21 ปี ) เจ้านายเชื้อสายเจ้าเจ็ดตน เป็นเจ้าหลวงเมืองเชียงราย ได้รับพระราชทานนาม ว่า พระยารัตนะอานาเขต เจ้าธรรมลังกาจึงเป็นเจ้าหลวงเมืองเชียงรายพระองค์แรก ส่งผลให้เมืองเชียงรายในตัวเมืองปัจจุบันมีบทบาทในฐานะศูนย์กลางอำนาจของเมือง แต่พื้นที่ดอยจอมทองยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมือง ดังปรากฏหลักฐานจากบันทึกเอกสารต้นฉบับเรื่องจดหมายเหตุเมืองเชียงราย ที่บันทึกโดย พระยาหลวงพินิจอัยยการ พร้อมกับบันทึกเอกสารต้นฉบับเรื่องจดหมายเหตุเมืองเชียงราย ของ พระครูปัญญาลังการ เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง (พ.ศ.2420-2505) ซึ่งบันทึกเมื่อปี พ.ศ. 2412 ซึ่งได้เขียนถึงการก่อเจดีย์บนดอยจอมทองว่าในปี พ.ศ.2400 ในช่วงปลายรัชสมัยเจ้าธรรมลังกา (เจ้าหลวงเชียงรายองค์ที่ 1) ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีการก่อพระธาตุบนยอดดอยจอมทองขึ้น พร้อมทั้งทำพิธีพุทธาภิเษกพระประธานวัดดอยจอมทอง  หลังจากนั้นอีกหนึ่งปีถัดมาพระธาตุ  พังลง ในปีนั้นเองเจ้าหลวงธรรมลังกา ถึงแก่พิราลัย หลังจากที่ปกครองเมืองเชียงรายมา 21 ปี

 “ 1226 ลง 1 ค่ำ แรกก่อพระธาตุดอยทอง ณ วันองัคารขึ้น 2 ค่ำ เดือน 10 ปีชวด สักราช 1229 ตัวพระธาตุที่ก่อแล้ว ก็โหยดกูดพังไป” 

ฉบับของพระครูปัญญาลังการ เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง (พ.ศ.2420-2505) มีเนื้อความว่า 

“มี 976 วา ลวงขื่ 356 วา สกราช1125 ตัวปีกล่าไคล้เดือน 10 ขึ้น 11คำ เวลาสู่รุ่งแจ้งดินไหวเดือน5 เพงขึ้นเบิกบายพรเจ้าดอยทอง เดือน 5 แรม 1 คำพาย ได้ก่อเจติยะดอยทอง  บอรวร แล้วเถิงสกราช 1126 ตัวปีกาบไจ้ เดือน 10 ขึ้น 2 ค่ำ เจติยะที่ก่อแล้วค็โปดพังคูดค้านไพน วันเดือน 1 ขึ้น 12 ค่ำ เจ้าหลวงธมมลงกาตาย ท่านได้ยกินเมือง 21 ปี ลู้ชาย2 ยิง2 มีเมีย2คน สกราช 1227 ตัว

ในปีเดียวกันนั้นเอง ภายหลังเจดีย์บนดอยจอมทองพังลงส่งผลให้ เจ้าหลวงอุ่นเรือน (เจ้าหลวงเชียงรายองค์ที่2) เป็นประธานในการก่อเจดีย์ดอยจอมทองขึ้นใหม่  จากเอกสารต้นฉบับในท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนความสำคัญของดอยจอมทองในฐานะพื้นที่สำคัญทางความเชื่อของเมืองเชียงราย 

พระธาตุดอยจอมทอง

จนกระทั่งใน ปี พ.ศ.2451 กิจการการศึกษาในประเทศไทยได้ก้าวหน้าขึ้น ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งโรงเรียนประจำจังหวัดเชียงราย ขึ้นบริเวณเชิงดอยวัดงำเมือง ชื่อ โรงเรียนประจำจังหวัดเชียงราย สามัคคีวิทยาคม ภายหลังในปี พ.ศ. 2460  ขยายชั้นเรียนเปิดสอนถึงชั้นประถมปีที่ 4 ในปีเดียวกันนั้น  มีการการตัดถนนเมืองเชียงรายซึ่งมีสาเหตุหนึ่งมาจาก เกิดอหิวาตกโรคขึ้น การแพทย์แบบตะวันตกของเชียงรายในยุคนั้นยังห่างไกลต่อความเจริญมาก คนยังเชื่อในเรื่องการรักษาด้วยความเชื่ออยู่มาก ทำให้เหตุการณ์ในครั้งนั้นชาวเมืองเชียงรายได้จัดพิธีสะเดาะเคราะห์ ครั้งใหญ่เรียก พิธีไหว้ผีเมืองเชียงราย(ผีนาค)  บริเวณข่วงหลวงเชิงดอยจอมทอง นายแพทย์วิลเลียม เอ บริกส์  เสนอให้มีการทุบกำแพงเมืองเชียงรายทั้งสี่ด้าน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคอหิวาตกโรคที่กำลังแพร่กระจายในช่วงนั้น โดยให้เหตุผลว่า

“กำแพงเมืองอยู่ ในสภาพชำรุดทรุดโทรม บริเวณประตูเป็นโคลนตม หล่มงู สกปรก เป็นแหล่งหมักหมมเชื้อและพยาธิที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อีกทั้งกำแพงเองก็ปิดกั้นการถ่ายเทของอากาศบริสุทธิ์ ประชาชนไม่ได้รับแสงแดดในการฆ่าเชื้อโรคอีกด้วย”

ส่งผลให้เกิดการขุดคลองขนาดเล็กเพื่อชักน้ำจากลำแม่น้ำกกเพื่อชักน้ำเข้ามาล้างน้ำเสียบริเวณคูเมืองเชียงราย ซึ่งเชื่อว่าเป็นแหล่งในการแพร่ระบาดของโรคอหิวาตกโรค  นอกจากนั้นยังมีการรื้อ ทุบกำแพงเมืองเชียงรายนำมาซึ่งการวางผังเมืองเชียงรายขึ้นใหม่ 

หนึ่งปีต่อมา ในปี พ.ศ.2461 เกิดการก่อตั้งกองทัพบกเชียงราย โดยใช้พื้นที่ดอยจำปี เป็นพื้นที่ในการก่อตั้งของกรมทหารราบที่ 14  เชียงราย โดยขึ้นการบังคับ กับกรมบัญชาการทหารบก มณฑลพายัพฝ่ายตะวันตก และในปีเดียวกันกิจการด้านการศึกษาในเมืองเชียงรายเจริญก้าวหน้ามากขึ้น มีการสร้างโรงเรียนสตรี ชื่อโรงเรียน บำรุงกุมารี ในระยะแรกอาศัยห้องเรียนของ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาหน้าวัดงามเมือง(งำเมือง) ภายหลังแยกมาตั้งโรงเรียนเป็นเอกเทศในพื้นที่ที่เคยเป็นคุ้มหลวงเมืองเชียงราย ตั้งชื่อโรงเรียนเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระยาราชเดชดำรง(ผล ศรุตตานนท์) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มในการกำเนิดโรงเรียนว่า โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์  4 ปีต่อมา ในปี พ.ศ.2465 จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า นครสวรรค์ วรพินิต พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ ซึ่งดำรงพระยศ ในขณะนั้นเป็น นายพลโท หม่อมเจ้าอลงกฏ แม่ทัพน้อยที่ 2 เสด็จตรวจเยี่ยมค่ายทหารบนดอยจำปี

อาคารเรียนโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ บริเวณพื้นที่เคยเป็นคุ้มเจ้าหลวงเมืองเชียงราย

จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เสด็จตรวจราชการที่เมืองเชียงราย ฉายภาพบริเวณโรงนอนทหารบนดอยจำปี ในปี พ.ศ. 2465

จารึกลายพระนามบนผนังถ้ำพระ  ในคราวจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์
 กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จตรวจราชการที่เมืองเชียงราย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7  ในปี พ.ศ.2469  รัชกาลที่ 7 พร้อมทั้ง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน เลียบมณฑลพายัพ โดยทางรถไฟ เพื่อเยี่ยมพสกนิกรในมณฑลพายัพ หัวเมืองสำคัญในมณฑลพายัพ ได้แก่เมืองพิษณุโลก เมืองแพร่ เมืองลำปาง  เมื่อเสด็จฯถึงเมืองลำปาง ทรงเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถพระที่นั่งจากเมืองลำปาง ต่อไปยังเมืองพะเยา   และ เมืองเชียงราย  ระหว่างวันที่ 14-18 มกราคม พ.ศ.2469  เสด็จฯประทับแรมที่ศาลากลางเมืองเชียงราย ทรงพระราชทานพระแสงศรัสตรา แก่อำมาตย์เอก พระยาราชเดชดำรง(ผล ศรุตานนท์[1]) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย วันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2469 เสด็จยังสถานที่สำคัญในเมืองเชียงราย ได้แก่ วัดพระสิงห์ วัดพระแก้ว วัดงามเมือง(วัดงำเมือง) ถ้ำพระ ถ้ำยุบ  โดยในเวลา 17.00 น. ทอดพระเนตรกิจการทหารบนดอยจำปี  พร้อมเสวยน้ำชาเครื่องว่างและในคราวนั้น หลวงดุลยธารณ์ปรีชาไวท์ ผู้พิพากษาจังหวัดเชียงราย ได้นำพระพุทธรูปหล่อด้วยนากขัดสมาธิเพ็ช ซึ่งค้นพบจากเจดีย์เมืองพะเยา ปรากฏข้อมูลจากราชกิจจานุเบกษา วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2469 มีเนื้อความว่า

“วันที่ 18 เวลา 5.00 ล.ท. เสด็จประพาสถ้ำพระ และถ้ำยุบ เวลาเสด็จกลับทอดพระเนตรโรงทหาร กรมตั้งเครื่องว่างถวาย เสวยเสร็จเสด็จกลับ”

[1] พระสระบุรี ศรีนัทยนิคม ( ผล ศรุตานนท์) ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น พระยาราชเดชดำรง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย 
ในปี พ.ศ. 2466  ถือศักดินา 3000  

“วันที่ 18 เวลา 5.00 ล.ท. เสด็จประพาสถ้ำพระ และถ้ำยุบ เวลาเสด็จกลับทอดพระเนตรโรงทหาร กรมตั้งเครื่องว่างถวาย เสวยเสร็จเสด็จกลับ”

ปีเดียวกัน จังหวัดเชียงราย มีความก้าวหน้าในด้านกิจการด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก ส่งผลให้จำนวนนักเรียน ที่ต้องการเรียนโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม มีจำนวนมากขึ้น อาคารมีความทรุดโทรม และไม่สามารถรองรับจำนวนนักเรียนได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้มีการย้ายสถานที่เรียนจากบริเวณเชิงดอยงำเมือง มาอยู่บริเวณวัดเจ็ดยอด ภายหลังจึงย้ายมาตั้งอยู่ในพื้นที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบัน

 อาคารเรียนโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม ที่วัดเจ็ดยอด

ช่วงที่ 3 ย่านภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ในช่วงสงครามโลกมหาเอเชียบูรพา สู่การเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2478 - ปัจจุบัน )

ภายหลังคณะราษฎรได้จัดการบริหารบ้านเมืองในการปกครองใหม่  เพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ ในยุคนี้ส่งผลให้มีการยกเลิกหน่วยการปกครองระดับมณฑลเทศาภิบาล มาเป็นการปกครองภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการจัดการภายในจังหวัด ในปี พ.ศ.2478 ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาล จังหวัดเชียงรายขึ้น   ต่อมาในปี พ.ศ. 2479 พระยาราชเดชดำรง(ผล ศรุตตานนท์) ข้าหลวงเมืองเชียงราย ลาออกจากตำแหน่งและ และไปดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลเชียงราย ซึ่งในยุคนั้นศาลาเทศบาลตั้งอยู่บริเวณมุมถนนระหว่างศาลากลางกับจวนผู้ว่า(บริเวณมุมถนนราชเดชดำรงและถนนสุขสถิตปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักธนานุบาล โดยปลูกบ้านอยู่บริเวณเนินเตี้ยๆเชิงดอยงำเมืองเป็นบ้านพัก เป็นอาคารขนาดใหญ่ 2 หลัง (มาลี(เทพวงศ์) ถนอมคุณ และคณะ ชาวบ้านเรียกว่า ม่อนเจ้าคุณ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) เชียงราย ในชุมชนราชเดชดำรง (บังอร มะลิดิน,สัมภาษณ์) 

ภายหลังในปี พ.ศ. 2483 ในช่วงที่พระยาราชเดชดำรง (ผล ศรุตตานนท์)  ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเชียงราย เกิดการก่อตั้งโรงไฟฟ้าเทศบาลเมืองเชียงราย  โดยก่อตั้งโรงไฟฟ้าบริเวณดอยจอมทอง(ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุกรมการรักษาดินแดง) มีสำนักงานตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยงำเมือง  โรงไฟฟ้าผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังไอน้ำส่งเสริมการตักน้ำจากบ่อน้ำใกล้กับโรงไฟฟ้า บนดอยจอมทอง เพื่อตักน้ำไว้ใช้สำหรับการต้มให้เกิดพลังไอน้ำ ชาวบ้านเรียก บ่อน้ำโรงไฟฟ้า

บ่อน้ำสำหรับตักน้ำเพื่อใช้ในการนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าจากแรงดันไอน้ำ

แผนที่เมืองเชียงรายในปี พ.ศ. 2478 ปรากฏดอยสามเส้ากลางเมืองเชียงราย

พระยาราชเดชดำรง (ผล ศรุตตานนท์) 

งานศพพระยาราชเดชดำรง(ผล ศรุตตานนท์) จัดงานบริเวณบ้านพักใกล้ๆดอยงำเมือง ชาวบ้านเรียก   ม่อนเจ้าคุณ

พื้นที่ ที่เคยเป็นที่ตั้งของบ้านพระยาราชเดชดำรง(ผล ศรุตตานนท์)
ชาวบ้านเรียก ม่อนเจ้าคุณ

เจดีย์(กู่) บรรจุอัฐิ พระยาราชเดชดำรง(ผล ศรุตตานนท์) 
 และคุณหญิงราชเดชดำรง
(เจ้าหอมนวล) บน ดอยงำเมือง

หลังจากนั้น 1 ปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2484 พื้นที่ย่านชุมชนดอยสามเส้าแห่งนี้ทวีความสำคัญ เพราะเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการตั้งกองทัพ ปรากฏหลักฐานจากบันทึกของครูถวาย   กิตติคุณ ครูโรงเรียนเชียงรายวิทยาคม ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ ในปี พ.ศ. 2487 มีเนื้อความว่า

“ CVK ถูกพายุสงครามพัด เช่น สงครามอินโดจีนของฝรั่งเศส สงครามมหาเอเชียบูรพา และเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยเรายอมร่วมรบกับญี่ปุ่นเพราะถูกบังคับและยังบังคับให้เรียนภาษาญี่ปุ่นด้วย รัฐบาลไทยสมัยนั้นโดยการนำของจอมพล ป พิบูลสงครามก็ไหวทันเลยตอบญี่ปุ่นไปว่าคนไทยเรียนภาษาไทยยังไม่จบ เวลากลางวันโรงเรียนเปิดสอนเช้าถึงประมาณบ่ายสามโมง ลูกเสือขนาดอายุ 10 กว่าปีก็ไปเฝ้าเวรยามตามสถานที่สำคัญของราชการเฝ้าสะพานแม่กก (สมัยนั้นเป็นสะพานเหล็ก) เฝ้าโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (ปัจจุบันคือสถานีวิทยุรักษาดินแดนดอยงำเมือง)”

พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีความสำคัญในฐานะพื้นที่ศูนย์กลางของกองบัญการทหารเป็นอย่างมาก เมื่อประเทศไทยในสมัยพลตรี ป. พิบูลสงคราม ได้มีการประกาศเข้าร่วมในสงครามมหาเอเซียบรูพา โดยยินยอมให้กองทัพทหารญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพและเดินทางผ่านเข้าสู่ประเทศพม่า  เมืองเชียงรายเป็นจุดพักใหญ่ของทหารญี่ปุ่นก่อนที่จะเดินทัพผ่านไปยังประเทศพม่าทางด่านชายแดนแม่สาย  กองทัพญี่ปุ่นใช้บ้านเลขที่ 528 บริเวณประตูหวาย เป็นที่ทำการกองทัพทหารญี่ปุ่น ซึ่งเดิมบ้านของ ขุนนเรนทรเสรี(ร.ต.สวน ณโยทยาน) อดีตสัสดีจังหวัดเชียงราย  นอกจากนั้นกองทัพยังเลือกพื้นที่ ที่อยู่ระหว่างดอยจอมทอง และดอยงำเมือง เป็นที่ตั้งของศูนย์กลางของทหารในการเดินทัพเพื่อทำสงครามกับนครเชียงตุง  โดยในช่วงนี้พื้นที่  ดอยสามเส้าแห่งนี้ ใช้เป็นพื้นที่ในการเป็นที่ตั้งของกองกำลังทหาร และ ใช้เป็นพื้นที่ในการเลี้ยงรับรอง จอมพล ป พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี(พื้นที่บริเวณสถานีวิทยุรักษาดินแดงในปัจจุบัน)  ต่อมาในปี พ.ศ.2448 มีการก่อสร้างอาคารที่พักของจอมพล ป พิบูลสงคราม เพื่อใช้สำหรับรับรองการมีตรวจกิจการทหารในเมืองเชียงราย (ภายหลังพัฒนาเป็น พิพิธภัณฑ์ทหาร มณฑลทหารบกที่ 37 )  

 ศูนย์กลางของทหารในการเดินทัพเพื่อทำสงครามกับนครเชียงตุง (บ้านพักจอมพล ป.)

สถานีวิทยุ ร.ด. และสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์(แบบถนนราชราชดำเนินนอก)

ต่อมาในปีพ.ศ. 2485  อาคารบ้านพักของจอมพล ป พิบูลสงคราม และ โรงผลิตไฟฟ้า ได้ปรับเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพพายัพ  ในปีพ.ศ.2500 เป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุ กระจายเสียงประจำถิ่น 10 เชียงราย หลังจากนั้น 2 ปีต่อมาเกิดการย้ายที่ตั้งของทหารบกเชียงรายจากบริเวณดอยจำปี มายังพื้นที่ ค่ายทหาร เด่นห้า ในปี พ.ศ. 2502 และพื้นที่โรงพักทหารบนดอยจำปี ถูกใช้เป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการจังหวัดเชียงราย ในปีพ.ศ. 2512 ในสมัยของนายสง่า ไชยพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เล็งเห็นถึงความคับแคบของอาคารศาลากลางหลังเดิม ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 โดยได้ย้ายศาลากลางมาอยู่บริเวณ ดอยจำปี ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของค่ายทหารบกเชียงราย ซึ่งย้ายลงไปจัดตั้งบริเวณชุมชนเด่นห้า   ส่งผลให้พื้นที่ดอยสามเส้าดังกล่าวมีความสำคัญในฐานะพื้นที่ศูนย์กลางการปกครองของจังหวัดเชียงราย 

แผนที่แสดงที่ตั้งผังเมืองเชียงราย ปี พ.ศ.2521  แสดงที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดเชียงราย บนดอยจำปี

หลังจากนั้น 1 ปี ถัดมาปี พ.ศ. 2513 พื้นที่ดอยจอมทอง ถูกใช้เป็นพื้นที่ทหารอย่างต่อเนื่อง อาคารบ้านพักของจอมพล ป พิบูลสงคราม ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นสถานีวิทยุ ถูกปรับเป็นที่ตั้งของหน่วยเฉพาะกิจทหารอาสาสมัคร สู้พรรคคอมมิวนิสต์ แห่งประเทศไทย (หน่วยล่าสังหาร) ซึ่งมีจ้างทหารอาสาชาวจีนยูนาน เข้ามาเป็นกองกำลังทหารและอาศัยอยู่ในพื้นที่ดอยจอมทอง  ในปัจจุบันยังคงการตั้งถิ่นฐานของทหารอาสา(หน่วยล่าสังหาร)อาศัยในชุมชน ซึ่งได้เล่าเหตุการณ์ว่า

เมื่อก่อนหน่วยล่าสังหาร เคยอยู่บนบ้านพักที่เป็นพิพิธภัณฑ์ ผมเคยไปสู้พรรคคอมมิวนิสต์ แห่งประเทศไทย ที่อำเภอเชียงคำ พะเยาในปัจจุบัน เมื่อการสู้สงบก็ย้ายไปอยู่นอกชุมชนเหลือผมคนเดียว

      พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นที่ตั้งของบ้านพักฟื้นทหารที่ไปทำสงครามปราบคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้พื้นที่ดอยสามเส้ากลายเป็นสถานที่พักในการรักษาพยาบาลจากทหารที่บาดเจ็บ  จุดเริ่มต้นของการเริ่มอพยพเข้ามาตั้งชุมชนของชาวบ้านในสามชุมชนเกิดมาจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่พักของทหาร ในระยะแรก ชาวบ้านอาศัยในบริเวณพื้นที่ว่างของบ้านพักฟื้นทหารบาดเจ็บเชิงดอยงำเมือง บริเวณถนนประตูเชียงใหม่(ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศูนย์ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 เชียงราย)  ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างรกร้าง มีการอพยพเข้ามาสร้างที่อยู่อาศัย เพราะสะดวกต่อการเดินทางไปทำงานในตัวเมือง บางส่วนเข้ามาเป็นผู้ใช้แรงงาน ในโรงสีข้าวขนาดใหญ่ในเมืองเชียงราย เช่น โรงสี     ศรีเกิด โรงสีร่องปลาค้าว เป็นต้น บางส่วนมีอาชีพรับจ้างทั่วไป และค้าขายในตลาดเทศบาลนครเชียงราย 

      จนกระทั่ง เกิดแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเพื่อเป็นศูนย์ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 เชียงราย ส่งผลให้ชาวบ้านเริ่มถากถางพื้นที่บนดอยจอมทอง ดอยงำเมือง และ หลังวัดพระแก้ว  เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย บางส่วนอพยพมาจากพื้นที่โดยรอบตัวเมืองเชียงราย เช่น  บ้านร่องขุ่น บ้านบัวสลี อำเภอเมือง เชียงราย ได้แก่ ครอบครัวของ นางบุญปั๋น จันทะวงศ นางเพ็ญศรี วงค์แก้ว นางบัวเขียว บัวงาม นายทอง จันทะเลิศ เป็นต้น จากอำเภอพาน ได้แก่ ครอบครัวนายอาจ  จันทร์ทา บางส่วนอพยพมาจากต่างจังหวัด ได้แก่   จังหวัดลำพูน  จากครอบครัวของนายแปง โนจา มีภูมิลำเนาเป็นชาวลำพูน ภายหลังอพยพมาอยู่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย และมาอยู่ในชุมชนหลังวัดพระแก้วกับลูกชาย ถือเป็นบุคคลสำคัญในการฟื้นฟูดนตรีพิณเปี๊ย ในประเทศไทย ต่อมาได้รับยกย่องจากให้เป็น ผู้มีผลงานโดดเด่นทางด้านวัฒนธรรมสาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีพื้นบ้าน พิณเปี๊ยะ) ในปี พ.ศ.2535 

พ่ออุ้ยแปง  โนจา ทูลเกล้าฯ ถวายพิณเปี๊ยะ 1 เลา
แด่สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลป์ยาณิวัฒนา ที่วัด
พระแก้วเชียงราย

พ่ออุ้ยแปง  โนจา ประดับเหรียญเชิดชูผู้มีผลงานโดดเด่นทางด้านวัฒนธรรมสาขาศิลปะการแสดง(ดนตรี พื้นบ้าน พิณเปี๊ยะ)

     ปัจจัยที่ผู้คนเลือกอพยพมาบุกเบิก ที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวมาจาก เป็นพื้นที่ตั้งอยู่บริเวณกลางเมือง สะดวกต่อการประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป  รับจ้างขนทรายจากท่าน้ำริมแม่น้ำกกซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับชุมชน ตลอดจน ประกอบอาชีพ ถีบสามล้อ ซึ่งถือเป็นอาชีพหลักที่คนในชุมชนนิยมทำ เนื่องจากพื้นที่ของชุมชน ตั้งอยู่ใกล่กับท่าแพ ริมแม่น้ำกก 2 ท่า ท่าแรก ของ นายฤทธิ์ สุขสถิต ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับศาลากลางบนดอยจำปี และ โรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค และท่าแพที่สองของนายปัน (ไม่ปราฏนามสกุล)  ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่ทำการสำนักงานประปาเชียงราย  โดยเป็นท่าแพทั้งสองแห่งจะเป็นจุดจอด จุดพักของแพไม้ไฝ่ที่ล่องลงมาจากอำเภอแม่อาย  อำเภอท่าตอน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมล่องลงมา เป็นจุดจอดสำคัญของรถสามล้อรับจ้าง  นอกจากนั้นชาวเชียงรายนิยมมาซื้อไม้ไผ่ ในบริเวณท่าแพ  ในช่วงวันเนา ในเทศกาลปีใหม่เมือง(สงกรานต์)   ชาวบ้านในหัววัดต่างๆในเขตเมืองเชียงราย มาตักทรายที่ท่าน้ำนี้ เพื่อนำไปก่อเจดีย์ทราย โดยตำแหน่งของที่ตั้งของบริเวณท่าแพ ชาวเมืองเชียงราย เรียก กองนาค

กองนาค ภายหลังเปลี่ยนเป็นถนนไกรสิทธิ์

พื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของท่าแพ ในอดีต และ แม่น้ำกกสายเดิม

อาชีพขับสามล้อ อาชีพที่สำคัญของคนในชุมชนตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน

จุดที่ตั้งเดิมของบ้านพักฟื้นทหาร เป็นพื้นที่ตั้งชุมชนเริ่มต้นของผู้คนที่ภายหลังอพยพมาตั้งชุมชนบนดอย   สามเส้า

แผนที่แสดงที่ตั้งของโรงสีศรีเกิด หนึ่งในสถานที่ทำงานของคนที่เข้ามาตั้งรกรากในชุมชนดอยสามเส้า

ในพื้นที่ในช่านชุมชนดอยทอง ในอดีตเป็นที่ตั้งของคณะลิเกคณะที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงราย คณะหนึ่ง คือ คณะประพันธ์เจริญศิลป์ ก่อตั้งโดย นายเชื้อ ปัญณกุล และภรรยาย นางฟอง ปัญณกุล  รูปแบบลิเกมีความพิเศษอยู่ที่การคัดเลือกละครพื้นบ้านภาคเหนือ ในอดีตนิยมถูกจ้างไปเล่นในงานเทศกาลสำคัญของจังหวัดเชียงราย และต่างจังหวัด นอกเหนือจากคณะประพันธ์เจริญศิลป์ ในจังหวัดเชียงราย มีคณะลิเกพื้นบ้าน อีก 1 คณะที่มีชื่อเสียงควบคู่กัน คือ คณะซานน้อยวัฒนา ซึ่งคณะตั้งอยู่ที่บ้านร่องเผียว ตำบลห้วยสัก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

อาจ  จันทร์ทา อดีตนักแสดงคณะลิเก คณะประพันธ์เจริญศิลป์

นอกจากนั้นพื้นที่ดังกล่าวยังเคยเป็นที่ตั้งของสถานบันเทิงของเมืองเชียงรายที่คึกคักที่สุดยุคหนึ่ง เป็นช่วงที่เศรษฐกิจชาวบ้านดีที่สุดยุคหนึ่ง ชาวบ้านขายอาหาร ขนม เพื่อรองรับผู้ที่มาเที่ยว เช่น ไก่ย่าง ถั่วลิสงต้ม เป็นต้น  จนกระทั่งในปี พ.ศ.2527  ค่ายทหารได้ย้ายหน่วยงานบางส่วนออกจากพื้นที่ดอยทั้งสามเส้า ส่งผลให้พื้นที่ในช่วงนี้ มีผู้คนจากต่างถิ่นอพยพเข้ามาจับจองตั้งบ้านเรือนตามพื้นที่ว่างเปล่า โดยพื้นที่บริเวณใกล้กับพระธาตุดอยจอมทอง เป็นสวนส้มเขียวหวานขนาดใหญ่ของ นายปุ๊ด ศรีอำนวย ภายหลังเลิกปลูกส้ม ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ ดังกล่าว เรียกซอยที่เคยเป็นที่ตั้งของสวนส้มว่า ซอยสวนส้ม เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในปัจจุบัน

 ซอยสวนส้ม ชุมชนดอยจอมทอง

ต่อมาชุมชนมีประชากรอพยพมาอาศัยอย่างหนาแน่นมากขึ้น กิจการบันเทิงค่อยๆเลิกไปจากชุมชน เหลือเป็นเพียงเรื่องเล่าในท้องถิ่น ต่อมาในปี พ.ศ.2529 เทศบาลเมืองเชียงรายได้จัดตั้งเป็นชุมชนราชเดชดำรง ตามชื่อของ ท่านเจ้าคุณราชเดชดำรง(ผล ศรุตตานนท์) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หลังจากนั้น 6 ปี ต่อมา  มีการโอนพื้นที่ดินบริเวณบนดอยทั้งสามลูก นี้ให้กับกรมธนารักษ์ ในปี พ.ศ.2535  โดยชาวบ้านเสียค่าที่ดินเป็นรายปีให้กับกรมธนารักษ์ 

(ซ้าย) หมุดทหาร   (ขวา) หมุดราชพัสดุ (กรมธนารักษ์)

จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2530  เมื่อเมืองเชียงรายมีการจัดงานเฉลิมฉลองเมืองเชียงรายครบรอบ 725 ปี พื้นที่กลุ่มดอยสามเส้านี้ ได้รับความสนใจให้มีความสำคัญเชิงภูมิทัศน์แบบจารีตอีกครั้ง โดยมีการจัดสร้างเสาสะดือเมืองขึ้นที่บริเวณดอยจอมทอง  โดยจังหวัดเชียงรายทูลเกล้าถวาย เสาหลักเมืองแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระสุหร่ายและทรงเจิม วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2531 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เสาหลักเมืองเชียงราย ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเชียงราย จนถึงปัจจุบัน

รัชกาลที่9 ทรงพระสุหร่ายและทรงเจิม เสาหลักเมืองเชียงราย

ในปี พ.ศ.2548 มีการตั้งถิ่นฐานของคนหนาแน่นมากขึ้น มีกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ชาวอาข่า เข้ามาอาศัยในชุมชนร่วมกับคนเมือง เนื่องจากสะดวกในการประกอบอาชีพค้าขายสินค้าในตลาดเทศบาลนครเชียงราย เช่น ผัก ผลไม้  ถือเป็นชุมชนชาติพันธิอาข่าที่ตั้งอยู่กลางเมืองเชียงราย การขยายตัวของประชากรมากขึ้นในชุมชนส่งผลให้ ชุมชนเกิดแนวคิดที่จะพัฒนาปรับปรุงชุมชนให้หน้าอยู่ จึงร่วมจัดทำแผนพัฒนาชุมชนโดยของบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช. และมีหน่วยภาคีความช่วยเหลือ เช่น เทศบาลนครเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ฯลฯ  เข้ามาร่วมพัฒนาชุมชน เช่น การก่อสร้างรั้วบ้าน ให้มีรูปแบบเดียวกันทั้งชุมชนเพื่อให้เกิดความสวยงาม เสริมสร้างความมั่นคงของบ้าน ป้องกันการกัดเซาะของหน้าดินเนื่องจากบ้านตั้งอยู่บนเนินเขาขนาดเล็ก  การทาสีบ้าน การพัฒนา ขยายถนนให้กว้างขึ้น เป็นต้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 มีการแยกส่วนหนึ่งที่ติดกับวัดพระแก้วขึ้นเป็นอีกชุมชนหนึ่งเรียกว่าชุมชนวัดพระแก้ว  

กำแพงบ้าน และรั้วทางขึ้นวัดพระธาตุดอยจอมทอง ที่ได้รับการพัฒนาจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  

กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในประชากรที่เข้ามาอาศัยในย่านชุมชนดอยสามเส้า

จนกระทั่ง ในปี พ.ศ.2553 มีการย้ายศาลากลางจังหวัดเชียงราย บริเวณดอยจำปี ไปอยู่สถานที่แห่งใหม่ บริเวณ บ้านน้ำลัด ถนนแม่ฟ้าหลวง ส่งผลให้อาคารศาลากลางว่างลง เกิดโครงการขยายห้องเรียนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ซึ่งทำการเปิดเรียนที่วัดพระแก้ว เชียงราย มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ส่งให้ให้มีการขอใช้พื้นที่ อาคารเพื่อจัดตั้งเป็นอาคารที่ทำการของวิทยาลัยสงฆ์เชียงราย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย จนถึงปัจจุบัน 

อาคารศาลากลางเชียงราย หลังที่2 ปัจจุบันเป็นทั้งของวิทยาลัยสงฆ์เชียงราย

ศาลากลางเชียงราย ปัจจุบัน

ในปัจจุบันประชากรในชุมชน ถือเป็นผู้มีบทบาทเป็นเจ้าของธุรกิจในตลาดสดเทศบาล1 และตลาดสดเทศบาล2 ราวร้อยละ30 ของผู้ค้าและเจ้าของแผงในตลาดเทศบาล 1  อาจกล่าวได้ว่าชุมชนเป็นนักออกแบบสินค้าในชีวิตประจำวัน ในตลาด ออกแบบระบบการจัดการสินค้า เชื่อมโยงพื้นที่แหล่งกำเนิดสินค้ากับชีวิตผู้คนในเมืองเชียงราย   ดังนั้นพื้นที่บริเวณชุมชนดอยสามเส้า  จึงถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สัมพันธ์กับพัฒนาการของเมืองเชียงรายในยุคต่างๆ ภายในชุมชนยังประกอบไปด้วยสิ่งก่อสร้างที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของเมืองในยุคต่างๆ