พิพิธภัณฑ์ทหารมณฑลทหารบกที่ 37
(พิพิธภัณฑ์ จอมพล ป.)

      อาคารพิพิธภัณฑ์ทหารมณฑลทหารบกที่37 ตั้งอยู่ ณ ม่อนจอมพล อยู่กึ่งกลางระหว่างม่อนจอมทองกับม่อนจอมแว่ (ศาลากลางหลังเก่า) บนเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ประกอบด้วยสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ทหารมณฑลทหารบกที่37  และส่วนที่เป็นสถานีวิทยุกรมการรักษาดินแดนปัจจุบัน อยู่ในพื้นที่ชุมชนดอยทอง เขตเทศบาลนครเชียงราย

       อาคารหลังดังกล่าว สร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  เนื่องด้วย จังหวัดเชียงรายเป็นหนึ่งในเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการเคลื่อนทัพไปนครเชียงตุง เนื่องจากมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่าที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายมีการจัดตั้งกองบัญชาการกองทัพพายัพขึ้น มีการสร้างบ้านพักจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุดในการเดินทางมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ภายหลังบ้านหลังนี้ยังถูกใช้เป็นที่ตั้งกอง บัญชาการสนามกองทัพพายัพ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2489 สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง อาคารหลังดังกล่าว ถูกใช้ประโยชน์ในทางราชการมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บ้านทรุดโทรมลง ในปี พ.ศ. 2539 จึงมีการซ่อมปรับปรุงครั้งแรก โดยการนำของ พล.ต.อิทธิพล ศิริมณฑล ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย เป็นการซ่อมปรับปรุงในส่วนที่ชำรุด และขัดผิวตัวบ้าน

      หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2554 ค่ายทหารเม็งรายมหาราชได้มีการจัดสรรพื้นที่ในค่ายให้ในการแบ่ง หน่วยงานภายในให้อยู่ในเขตพื้นที่ของข้าราชการที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากอาคารหลังดังกล่าว  ก็มีการย้ายเข้าไปประจำการในค่ายเม็งรายมหาราช ทำให้อาคารหลังดังกล่าวว่างลง จึงเกิดแนวคิดการพัฒนาค่ายทหารให้เป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยว เพราะเห็นถึงคุณค่าของอาคาร ซึ่งมีสถาปัตยกรรมที่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสไตล์สวิตเซอร์แลนด์ที่สมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย นำไปสู่แนวคิดการปรับปรุงครั้งที่ 2 ให้เป็นพิพิธภัณฑ์สมัย พล.ต.ธันยวัตร ปัญญา บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย ได้มอบหมายให้พันเอกสิงหนาท โลสุยะ หัวหน้าหน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหารจังหวัดทหารบกเชียงราย เป็นผู้รับผิดชอบจากการปรับปรุงบ้าน ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดพิพิธภัณฑ์ในระยะต่อมา

       ปี พ.ศ. 2555 การดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในระยะแรก มีการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ตกแต่งภายใน และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ โดยมีภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุน ช่วยเหลือในการสร้างถนนในพื้นที่ มีการรวบรวมวัตถุที่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนจังหวัดเชียงราย สนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สำนักวิชาสังคมศาสตร์ ที่เข้ามาช่วยเหลือในด้านการจัดทำทะเบียนวัตถุและข้อมูลต่างๆ รวมถึงนักวิชาการที่เข้ามาช่วยจัดทำข้อมูล ซึ่งมีการแบ่งห้องจัดแสดงเป็น 2 ชั้น ทั้งหมด 7 ห้อง ซึ่งชั้นแรกมีจำนวน 3 ห้อง มีห้องรับรอง ซึ่งเป็นห้องแรกที่ต้อนรับผู้เข้าชม โดยจะมีวีดีทัศน์ประวัติของบ้าน ห้องที่ 2  เป็นห้องอาวุธ จัดแสดงอาวุธสงครามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  และประวัติกองทหารในเมืองเชียงราย ส่วนชั้น 2 ของบ้าน แบ่งออกเป็น 3 ห้อง ห้องแรกเป็นห้องของจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นห้องจำลองวิถีชีวิตของผู้นำ ห้องที่ 2 ห้องประวัติศาสตร์ล้านนา มีการจัดแสดงวัตถุเครื่องมือเครื่องใช้ อาวุธโบราณ ภาพเก่าเมืองเชียงราย และห้องที่ 3 ห้องวีดีทัศน์ เป็นห้องสื่อวีดีทัศน์ที่จัดแสดงเกี่ยวกับการก่อตั้งเมืองเชียงราย และการตั้งกองทัพในพื้นที่เมืองเชียงรายในอดีต เป็นต้น

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2559 พิพิธภัณฑ์มณฑลทหารบกที่ 37 ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรม ประจำปี พ.ศ. 2559  ประเภทอาคารสาธารณะ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หลังจากได้รับรางวัลหน่วยงานเทศบาลนครเชียงรายเพลงเห็นถึงความสำคัญของบ้านที่มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น จึงมีการกำหนดให้พิพิธภัณฑ์มณฑลทหารบกที่ 37 บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นจุดหนึ่งของเส้นทางการท่องเที่ยวผ่านรถรางของเทศบาลนครเชียงราย ซึ่งในอนาคตหากมีการพัฒนารูปแบบการจัดแสดงภายในไม่มีกิจกรรมที่น่าสนใจ และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองส่งผลให้พิพิธภัณฑ์มณฑลทหารบกที่ 37 บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นแหล่งเรียนรู้ สถานที่ท่องเที่ยวสามารถเข้ามาศึกษาข้อมูลผ่านการจัดแสดงที่เข้าใจและน่าสนใจ